วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำยาล้างผักสูตรทำเองง่ายๆ

น้ำยาล้างผักสูตรทำเองง่ายๆ

การขนส่งผักกว่าจะถึงมือผู้ซื้อ แน่ใจได้อย่างไรว่าสะอาด ปลอดภัย และปราศจาก
สารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ


การใช้น้ำยาล้างผัก สามารถลดสารพิษในผักได้มากกว่าการล้างด้วยน้ำเปล่า จะซื้อหามาใช้งาน หรือต้องการประหยัดด้วยการทำเอง ก็มีสูตรน้ำยาล้างผักที่สามารถ
ทำเองได้ง่ายๆ มาแนะนำ 3 สูตร ดังนี้


1. สูตรน้ำส้มสายชู (ลดสารพิษได้ถึง 90-95%)
นำน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสะอาดหรือน้ำประปาธรรมดา 15-20 ลิตรแล้วนำผักมาแช่ทิ้งไว้ 15-20 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 3-4 ครั้ง


2. สูตรน้ำเกลือ (ลดสารพิษได้ถึง 60-70%)
นำเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำสะอาด 4-5 ลิตร
แล้วนำผักมาแช่ทิ้งไว้ 20 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 3-4 ครั้ง


3. สูตรน้ำโซเดียมไบคาร์บอเนต (ลดสารพิษได้ถึง 90-95%)
นำโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำสะอาด 20-25 ลิตรแล้วนำผักมาแช่ทิ้งไว้ 15-20 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 3-4 ครั้ง


การรับประทานผักมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรล้างก่อนรับประทาน เพราะ ช่วยให้ผักสะอาด และลดสารพิษที่ปนเปื้อนมากับผักได้ ใส่ใจสักนิดเพื่อสุขภาพของตัวคุณ
ภาพประกอบจาก http://www.sxc.hu/photo/1174376
ที่มา : หนังสือ สวยด้วยผัก โดย ดิฐลดา เพียงกูลย์
ที่มา  http://www.lib.ru.ac.th/miscell/cleaning-vegetable.html

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

ความสะอาดของคอนแทคเลนส์เป็นสิ่งสำคัญมาก นึกดูว่าเพียงแค่มีเศษผงเล็กๆเข้าตา ยังทำให้แสบตาจนน้ำตาไหล แต่คอนแทคเลนส์ต้องสัมผัสติดกับดวงตา โดยตรงเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หากสะอาดไม่เพียงพอ จะมีผลเสียต่อดวงตา มากมายเพียงใด การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าใช้วิธีแช่เพียง อย่างเดียวก็ได้ เพราะ ข้อความ No Rub ในคำแนะนำการใช้ข้างกล่องคอนแทคเลนส์ ไม่ได้แปลว่าห้ามถู ความจริงแล้วแปลว่า ไม่ต้องถูก็พออนุโลมได้ 

มีรายงานวิจัยบอกว่า การถูอย่างเดียวลดเชื้อโรคได้ 95% ส่วนเชื้อโรคที่เหลือ5% น้ำยาแช่สามารถกำจัดได้ นากจากนี้ การถูยังช่วยลดคราบจุลินทรีย์(Biofilm) ที่เกาะผิวเลนส์ได้ด้วย

ดังนั้น การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง คือ  ต้องถูด้วยน้ำยา
ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ แล้วจึงแช่เลนส์นั้นในน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์
อีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก คือ การแช่เลนส์ไว้ในน้ำเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคได้  ความจริงแล้ว น้ำเกลือไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แต่น้ำเกลือจะทำให้เชื้อโรคโตเร็วขึ้นแทนที่จะฆ่าเชื้อ กลายเป็นเพาะเชื้อตลอด 8-10 ชั่วโมงที่เราไม่ได้ใส่เลนส์
การใช้น้ำเกลือที่ถูกต้อง คือ ใช้น้ำเกลือในการล้างน้ำยาที่ใช้ฟอกถูเลนส์ในรายที่เซ้นสิทีฟกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้น้ำเหลือในการล้างทิ้งหากใช้และดูแลผิดวิธีคอนแทคเลนส์จะเป็นอันตรายต่อดวงตา ก่อนใช้ควรรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์และศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน หากมีปัญหาควรหยุดใช้แล้วพบจักษุแพทย์ทันที
ที่มาภาพ : http://www.sxc.hu/photo/385768
ที่มา : นิตยสารชีวจิต ปีที่ 12 ฉบับ 1 ก.ย. 2553 คอลัมน์
คนไข้ถาม คุณหมอตอบ ทุกปัญหาคอนแทคเลนส์คนทำงาน
โดย นายแพทย์คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ประจำคลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา
ที่มา  http://www.lib.ru.ac.th/miscell/contact-lens-care.html

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับครีมกันแดด

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับครีมกันแดด

อากาศร้อน และแดดแรง อย่างประเทศไทย ครีมกันแดดจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพผิว เมื่อต้องเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับตัวเองมองดูฉลากข้างกล่องแล้วก็มีศัพท์ที่น่าสนใจ ให้เราต้องเลือกดังนี้

1. "SPF" ย่อมาจาก Sun Protection Factor เป็นค่าในการชี้วัดว่าเราสามารถอยู่กลางแสงแดดได้นานแค่ไหน โดยที่ไม่รู้สึกร้อนหรือแสบบริเวณผิว เช่น
ถ้าเรามีผิวที่แพ้แสงแดดและแสบร้อนง่ายในเวลา 20 นาที ครีมกันแดดที่มี SPF 15จะช่วยปกป้องเราจากแสงแดดได้นาน 15 เท่า และเมื่ออยู่กลางแดดมากๆ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้น

2. "Waterproof" แม้จะเขียนว่า Waterproof (กันน้ำ) แต่ก็ไม่สามารถกันน้ำได้ 100% ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลต้องทาครีมกันแดดอย่างต่อเนื่อง โดยทาซ้ำทุกครั้งที่เหงื่อออก หรือทุกครั้งในช่วงพักว่ายน้ำ

3. "UVA และ UVB" ถ้าเขียนไว้ว่า.. มี UVA หมายถึง ครีมกันแดดนั้น มีคุณสมบัติ ป้องกันกระ ฝ้า และป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย แต่ถ้าเขียนไว้ว่า..มี UVB หมายถึง ครีมกันแดดนั้นมีคุณสมบัติ ป้องกันอาการแพ้ แดง แสบภาพประกอบจาก http://www.nivea.co.thและไหม้ของผิวหนัง

หวังว่า..จะเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับตัวเองได้ดีขึ้นส่วนเทคนิคในการใช้งานครีมกันแดดที่ต้องจำไว้ให้แม่นๆก็คือ ครีมกันแดด ไม่สามารถป้องกันแสงแดดได้ 100%
ดังนั้น เมื่อต้องออกแดด เช่น เล่นกีฬากลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดด หรือหมวกกันแดดจะป้องกันได้มากขึ้น ส่วนการทาผิวควรเกลี่ยครีมให้เรียบเสมอ และทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการปกป้องจากแดดเพื่อป้องกันผิวด่างดำเฉพาะที่ และเลิกใช้ทันทีถ้ามีอาการแพ้ มีผื่นแดง และคัน

ที่มา : นิตยสาร "ผาสุก" (phasuk) 
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด
ปีที่ 31 ฉบับที่ 163     เมษายน - มิถุนายน 2551
ที่มา  http://www.lib.ru.ac.th/miscell/sunblock_lotion.html


วิธีการเตรียมสุขภาพให้พร้อมสำหรับการสอบ

วิธีการเตรียมสุขภาพให้พร้อมสำหรับการสอบ

ในช่วงการสอบมักมีนักศึกษาป่วยฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก สาเหตุการป่วยที่พบบ่อยคือ นอนดึก หรือไม่ได้นอน ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้า ปวดท้องประจำเดือนปวดท้องโรคกระเพาะ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ เป็นลมเพื่อหลีกเลี่ยงการป่วยดังกล่าว ควรเตรียมตัวก่อนสอบให้พร้อม เช่น ทบทวนตำราวิชาที่จะสอบล่วงหน้า พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึกเกินไปหรืออดนอน รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้าวันที่จะสอบสำคัญมากระมัดระวังในการรับประทานอาหาร
หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือของหมักดอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการอาหารเปินพิษ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรงได้ส่วนผู้มีโรคประจำตัว เช่น ลมชัก หอบหืดควรปรึกษาแพทย์ รับประทานยาตามเวลา
พักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ที่มา : สารสุขภาพ งานแพทและอนามัย กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีที่ 11 ฉบับ 5 ประจำเดือน พฤษภาคม 2554
ภาพ : Http://www.flickr.com/photos/alexnormand/2730061843/
ที่มา  http://www.lib.ru.ac.th/miscell/health-for-exam.html

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้จักกับโรคติดงาน (Workaholic) หรือโรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome)

รู้จักกับโรคติดงาน (Workaholic) หรือโรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome)


ความเร่งรีบของสังคมเมือง และความเจริญก้าวหน้าของโลกทำให้ชีวิตมีการแข่งขันกันมากขึ้น ต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย เมื่อทำงานหนักมากขึ้นอาจส่งผลให้เป็น "โรคติดงาน (Workaholic)" หรือ "โรคออฟฟิศซินโดรม (OfficeSyndrome)" ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "โรคบ้างาน" เดิมพบมากในชายชาวญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันพบในสังคมไทยแล้ว

โรคบ้างานมักเกิดกับผู้ที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง มีความสุขจากการทำงาน และมีจิตใจคิดวนเวียนอยู่กับการทำงาน

อาการเบื้องต้นในด้านร่างกาย คือ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกาย จนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์ คือ กลายเป็นผู้ที่มองอะไรขวางหูขวางตาไปหมด เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยไม่เหมือนเดิม จะให้ความสนใจแต่เฉพาะในเรื่องของการทำงาน จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

หากมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ สามารถเริ่มรักษาได้ด้วยตนเอง ปรับพฤติกรรมลดความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินพอดี ด้วยการใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรมีการผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน  เช่น หลับตา หายใจลึกๆ สักพัก และระหว่างเวลาทำงานในทุก 1 ชั่วโมง ควรใช้สมอง 45 นาที แล้วพัก 10-15 นาที

หากไม่รู้สึกดีขึ้น สามารถ์ขอคำปรึกษาได้ ที่ "สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323" หรือปรึกษาคลินิกคลายเครียด ที่มีอยู่ในหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต
ที่มา : หนังสือ ภัยสุขภาพ โดย วันรวี
http://www.lib.ru.ac.th/miscell/workaholic.html